ประเทศอินเดีย หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐอินเดีย ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ทิศเหนือติดกับประเทศจีน เนปาลและภูฎาน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับปากีสถาน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดพม่า ทิศตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงใต้ติดมหาสมุทรอินเดีย และทิศตะวันออกติดบังคลาเทศ
อินเดียมีประชากร จำนวน 1,154 ล้านคน มากเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากประเทศจีน และเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีภาษาพูดแปดร้อยภาษาโดยประมาณ มีภาษาหลักใช้พูดถึง 16 ภาษา โดยมีภาษาอังกฤษและภาษาฮินดี เป็นภาษาราชการ ด้านเศรษฐกิจ อินเดียมีอำนาจการซื้อมากเป็นอันดับที่สี่ของโลก สภาพอากาศในอินเดียมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว เวลาในอินเดียต่างกับประเทศไทย คือช้ากว่าประเทศไทย 1.30 ชั่วโมง และเงินตราใช้สกุลรูปี(47 รูปี แลกได้ 1 U. S. ดอลล่า)
ประเทศอินเดียมีพื้นที่ 3,287,590 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก(ใหญ่กว่าประเทศไทย 6 เท่า) พื้นที่ทางตอนเหนือของอินเดียเป็นที่ราบสูง ไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร ภาคกลางเป็นที่ราบแต่แห้งแล้งเป็นส่วนใหญ่ และทางตอนใต้มีความเหมาะสมในการปลูกพืช ระบอบการเมือง ใช้ระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ระบบการปกครอง แบบสาธารณรัฐ แบ่งเป็น 28 รัฐ และดินแดนสหภาพอีก 7 เขต มีประธานาธิบดีของประเทศอินเดียเป็นหัวหน้ารัฐธรรมนูญ และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าของรัฐบาลรัฐธรรมนูญอินเดียแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐ อย่างชัดเจน โดยรัฐบาลกลางดำเนินการเรื่องป้องกันประเทศ ด้านนโยบายต่างประเทศ การรถไฟ การบิน และการคมนาคมอื่น ๆ ด้านการเงิน ด้านกฎหมายอาญา ส่วนรัฐบาลมลรัฐมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย รักษากฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของมลรัฐ โดยมีเมืองหลวงคือ กรุงนิวเดลลี อินเดียเคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2299 ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2490 และวันชาติของอินเดียคือวันที่ 26 มกราคม ของทุกปี
- ในด้านการเกษตร ผลผลิตที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่ง ข้าวโพด พืชน้ำมัน ฝ้าย น้ำตาล ชา ปศุสัตว์ นม(ผลิตได้มากที่สุดในโลก) การจับปลา ผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ อาหารแปรรูป เหล็ก อุปกรณ์การขนส่ง ซีเมนต์ และเหมืองแร่ เป็นต้น
- การสหกรณ์ในอินเดีย เริ่มต้นจากสหกรณ์ภาคเกษตร ตอนปลายศตวรรษที่ 19 การทำการเกษตรของเกษตรกรที่ยากจนและมีหลายวรรณะแบ่งแยกชนชั้นในสังคม เกษตรกรมีปัญหาเรื่องหนี้สินมากที่สุด ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นเป็นฉบับแรกของอินเดีย(Cooperative Credit Societies Atc. 1904) ระบบสหกรณ์
ได้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลกลางมาทุกสมัยในการแก้ไขปัญหาความแตกต่างระหว่างชนชั้นของอินเดีย เป็นกลไกลในการผลักดันเศรษฐกิจของชุมชน จังหวัด และระดับรัฐ สหกรณ์สามารถเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เข้าถึงประชาชนทุกวรรณะ ผู้นำแห่งรัฐจึงกำหนดให้ทุกจังหวัดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยระบบสหกรณ์เท่านั้น ทุก ๆ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะหรือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ต่อมาในปี ค.ศ. 1942 รัฐบาลกลางได้ตรากฎหมายสหกรณ์ เป็นกฎหมายรวมที่นำไปใช้ได้ทุกรัฐ(Multi-Unite Cooperative Societies Act 1942) กิจการสหกรณ์ก็ได้เริ่มขยายตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงปี ค.ศ. 1960 รัฐบาลอินเดีย นอกจากการเน้นปรับปรุงระบบสินเชื่ออย่างเดียวกลับเน้นให้รัฐบาลในแต่ละรัฐ เข้าไปลงทุนสนับสนุนสหกรณ์ทั้งการเงินและการจัดการ จำนวนสหกรณ์สินเชื่อขั้นปฐมในชุมชนจึงได้ทำหน้าที่ เช่น บริการสินเชื่อ การผลิต การตลาด จัดหาปัจจัยการผลิต การจัดหาที่อยู่อาศัยให้ ผลิตนม สิ่งทอ ฝ้าย เป็นต้น ส่วนนโยบายรัฐบาลกลางและในระดับรัฐ ต้องกำหนดให้การส่งเสริมสนับสนุนระบบสหกรณ์อย่างชัดเจน ทั้งด้านเงินทุน การตลาดสินค้าเกษตร การจัดการภายในสหกรณ์ การใช้เทคโนโลยีในสหกรณ์ ทุกรัฐบาลจะต้องเน้นการพัฒนาการเกษตรให้มีความเร่งการเจริญเติบโตทางธุรกิจการเกษตร การพัฒนาโครงการพื้นฐาน การเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี รัฐมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ
- การอุดหนุนสหกรณ์การเกษตรเป็นกรณีพิเศษ ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลทุรกันดาร
- ภายใต้การส่งเสริมของรัฐบาลกลาง ให้อำนวยความสะดวกทุกประการต่อขบวนการสหกรณ์
ให้รัฐบาลแต่ละรัฐทั้ง 28 รัฐ 7 เขตพื้นที่การปกครองพิเศษ ส่งเสริมการสหกรณ์บนพื้นที่ฐานของเกษตรกร โดยเน้นการพึ่งตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การรับผิดชอบตนเอง ความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาค และการส่งเสริมให้แพร่กระจายในแนวกว้าง กิจการสหกรณ์ในอินเดียจึงได้เกิดขึ้นอย่างเต็มตัวและเพิ่มขึ้นอย่าวงรวดเร็ว
ปัจจุบันการสหกรณ์ในประเทศอินเดีย มีอยู่ 2 ประเภท คือ สหกรณ์ที่มีการให้สินเชื่อ และสหกรณ์ประเภทที่ไม่ให้สินเชื่อ ในอินเดียมีสหกรณ์ทุกประเภททุกระดับ จำนวนทั้งสิ้น 595,215 สหกรณ์ และมีสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศอินเดีย จำนวนทั้งสิ้น 249,248,025 คน มากที่สุดในโลก
- ประเภทสหกรณ์ที่มีการให้สินเชื่อ ได้แก่ ประเภทธนาคารกลางสหกรณ์ ประเภทธนาคารพัฒนาชนบทและสหกรณ์ขั้นปฐม ประเภทธนาคารสหกรณ์ระดับปฐม ประเภทสินเชื่อนอกภาคเกษตรระดับปฐม และประเภทธนาคารพัฒนาชนบทและสหกรณ์การเกษตรระดับรัฐ
- สหกรณ์ประเภทที่ไม่ให้สินเชื่อ ได้แก่ ประเภทสหกรณ์ตลาดรวม สหกรณ์ผู้บริโภค สหกรณ์ผู้ผลิตนมและชุมนุมสหกรณ์ สหกรณ์ประกันภัย สหกรณ์เคหสถาน สหกรณ์การชลประทาน สหกรณ์นักเรียน สหกรณ์ปุ๋ยเกษตรกรระดับชาติแห่งอินเดีย (India Farmers Fertilizers Cooperative Limited : IFFCO) สหกรณ์แรงงานสตรี ชุมนุมสหกรณ์ผู้ผลิตนมแห่งรัฐ
ส่วนโครงสร้างสหกรณ์ในประเทศอินเดีย แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
- สหกรณ์ระดับปฐม ซึ่งเป็นสหกรณ์ขนาดเล็กในชุมชน ท้องถิ่น สหกรณ์สินเชื่อขนาดเล็กขั้นปฐมจะให้เงินกู้แก่สมาชิกไปลงทุนฯ เช่น จะมีธนาคารสหกรณ์ระดับปฐมในการให้สินเชื่อ
- สหกรณ์ระดับจังหวัดหรือรัฐ มีทั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ระดับจังหวัด และเป็นสหกรณ์ ส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ทำฟาร์มขนาดใหญ่ มีแหล่งเงินทุนจากธนาคารสหกรณ์ระดับรัฐ คอยสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับสหกรณ์และสมาชิก
- ชุมนุมสหกรณ์หรือสมาพันธ์สหกรณ์ระดับรวมรัฐ หรือภูมิภาค ประกอบด้วยชุมนุมสหกรณ์หลายรัฐมารวมกัน ซึ่งมีหน้าที่ประสานการทำงานพัฒนาสหกรณ์ทั้งด้านธุรกิจ การเงิน นโยบาย การแก้ไขกฎหมายระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับสหกรณ์
- สหพันธ์สหกรณ์ระดับชาติหรือชุมนุมระดับชาติ ประกอบด้วยสมาพันธ์สหกรณ์ระดับชาติ สหกรณ์ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการผลิตจำหน่ายปุ๋ย สหกรณ์นม สหกรณ์สตรีและสหกรณ์แรงงานและสหกรณ์ลักษณะอื่น ๆ เป็นศูนย์รวมกิจการสหกรณ์ทั้งหมด ทำหน้าที่สนับสนุนการลงทุน การออก
กฎหมายให้คุ้มครองสหกรณ์ ประสานงานกับพรรคการเมือง และรัฐบาล การจัดการอบรมให้สหกรณ์ระดับปฐมจนถึงระดับชาติ แต่ทั้งหมดมารวมเป็นสหภาพสหกรณ์แห่งชาติอินเดีย(National Cooperative Union of India : NCUI) ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในอินเดียเป็นอย่างมาก
สังคมหลักสหกรณ์การเกษตรมีบทบาทสำคัญมากในการผลิตการจัดซื้อ และการจัดจำหน่ายผลิตผลการเกษตรทั่วประเทศด้วยการสนับสนุนของธนาคารกลางสหกรณ์ระดับอำเภอ, และธนาคารของรัฐแห่งชาติธนาคารเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบท เช่น NABARD สำหรับการให้สินเชื่อ มีทั้งสินเชื่อระยะสั้น สินเชื่อระยะกลาง และระยะยาว นอกจากนั้น ยังมีโครงสร้างธนาคารสหกรณ์มีบทบาทสำคัญ มีประมาณ 2000 ธนาคารสหกรณ์ในเมืองที่ให้วงเงินสินเชื่อที่จำเป็นมากสำหรับการทำงานธุรกิจขนาดเล็ก