เศรษฐกิจของอินเดียในภาพรวม

สภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจเศรษฐกิจของอินเดียในภาพรวม
อินเดียเป็นหนึ่งในกลุ่ม BRICS ประกอบด้วยประเทศ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้  ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการขยายตลาดการค้าและการลงทุน เดิมอินเดีย  มีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เน้นการพึ่งพาตนเอง ประชากรร้อยละ 60 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  อินเดียเริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและเปิดตลาดภายในประเทศมากขึ้นตั้งแต่ปี 2534 ส่งผลให้เศรษฐกิจของอินเดียพัฒนาขึ้นเรื่อยมา และยกระดับขึ้นเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่สูง ปัจจุบันอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย (รองจากจีน และญี่ปุ่น)  โดยธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2563 ภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับอินเดีย คือ ภาคบริการ IT และ บริหารจัดการระบบงานธุรกิจ (Business Process Outsourcing : BPO) โดย 57% ของ GDP มาจากภาคบริการ ซึ่งขยายตัวเร็วและดึงดูด  การลงทุนเข้ามาในประเทศมากสุด

นโยบายเศรษฐกิจของอินเดีย
อินเดียประกาศแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด “New India” เมื่อปี 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับการที่อินเดียกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจมูลค่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 จะมีจำนวนประชากรอายุ 15 – 34 ปี มากถึง 480 ล้านคน โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดจากนโยบายสำคัญ อาทิ

  1. นโยบาย Digital India พัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยงานราชการ และเตรียมพร้อมประชาชนสู่สังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร และมุ่งสร้างผู้ใช้อินเตอร์เน็ตให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 พันล้านคน
  2. นโยบาย Skills India สร้างแรงงานมีฝีมือจำนวน 19 ล้านคน
  3. นโยบาย Startups India สร้างระบบนิเวศสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นหรือธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startups)
  4. นโยบาย Jan Dhan Yojana เพิ่มบัญชีธนาคาร 300 ล้านบัญชี
  5. นโยบาย Smart Cities มุ่งพัฒนาเมืองอัจฉริยะกว่า 100 เมือง ที่มีระบบปกครองท้องถิ่นที่ดี มีระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบการขนส่งที่ดี ตลอดจนมีที่พักอาศัยที่เหมาะสมและมีระบบกำจัดสิ่งสกปรก และขยะมูลฝอยที่ทันสมัย
  6. นโยบาย Clean India ส่งเสริมการรักษาความสะอาดและการสร้างห้องสุขาแก่ครัวเรือนและหมู่บ้านทั่วอินเดีย
  7. นโยบาย Make in India ยกระดับประเทศสู่ศูนย์กลางการผลิตของโลก มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรม 25 สาขา ได้แก่ ยานยนต์ชิ้นส่วนยานยนต์อากาศยาน เทคโนโลยีเคมีชีวภาพ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เครื่องจักร ระบบอิเล็กทรอนิคส์การแปรรูปอาหาร IT และ Business Process Management (BPM) เครื่องหนัง สื่อและอุตสาหกรรมบันเทิง เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซ ยารักษาโรค ท่าเรือ รถไฟ พลังงานหมุนเวียน ถนน อวกาศ สิ่งทอและเสื้อผ้า ไฟฟ้าระบบพลังงานความร้อน การท่องเที่ยวและการบริการ และสุขภาพโดยมีการดำเนินโครงการต่าง ๆ ควบคู่ไป อาทิ โครงการอำนวยความสะดวกด้านการประกอบธุรกิจ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทดแทน ระบบโลจิสติกส์ และระเบียงอุตสาหกรรมต่าง ๆ

    ปัจจุบันอินเดียพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด “New India” โดยมีหัวใจหลัก 4 ประการ ได้แก่
    1. ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Drives) โดยรักษาให้ GDP เติบโตร้อยละ 8 ในปี 2561 – 2566 และเพิ่มมูลค่าการลงทุนให้มีสัดส่วนร้อยละ 36 ของ GDP 
    2. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยเร่งจัดตั้งหน่วยงาน Rail Development Authority ที่จะช่วยพัฒนากลไกการยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางราง 
    3. การพัฒนาแบบองค์รวม (Inclusion) การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมผ่านการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ Atal Tinkering Laboratories ในโรงเรียนต่าง ๆ 10,000 แห่ง ทั่วประเทศภายในปี พ.ศ. 2563 
    4. ธรรมาภิบาล (Governance) โดยเน้นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากพื้นที่ห่างไกล เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อ Ease of Doing Business 

นโยบายส่งเสริมความเชื่อมโยงกับกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย
รัฐบาลอินเดียมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียในทุกมิติ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยดำเนินนโยบายปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy) ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคและสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศให้เกิดความเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งนโยบาย Act East เป็นนโยบายที่พัฒนามาจากมาจากนโยบายเดิมคือ นโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) และนโยบาย Act East เน้นการปฏิบัติการขยายการเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอาเซียนบนพื้นฐานการเชื่อมโยงที่สำคัญ 3 ด้าน คือ การค้า วัฒนธรรม และ การขนส่ง รวมทั้งเร่งรัด การพัฒนาพื้นที่ใน 8 รัฐในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ได้แก่ อรุณาจัลประเทศ อัสสัม มณีปุระ เมฆกัลยา มิโซรัม นากาแลนด์ สิกขิม และตรีปุระ เพื่อให้มีความเชื่อมโยงด้านการค้าการขนส่งระหว่างอินเดียกับอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการถนนสามฝ่าย (Trilateral Highway Project) เชื่อมระหว่างอินเดีย – เมียนมา – ไทย

นโยบายการค้าต่างประเทศของอินเดียปี 2558 – 2563 
มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกของอินเดียจากประมาณ 4.65 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี ซึ่งจะทำให้สัดส่วนมูลค่าการค้ารวมของอินเดียเพิ่มจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 3.5 ของการค้าโลก โดยมีกลยุทธ์ ดังนี้

  1. เชื่อมโยงนโยบายการค้าต่างประเทศกับนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล อาทิ นโยบาย New India, Make in India, Digital India, Skills India โดยบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานภาครัฐ/ดินแดนสหภาพกับรัฐบาลกลาง
  2. ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคี (FTA, WTO, RCEP, TTIP) เช่น การศึกษาเพื่อทบทวนความตกลงที่อินเดียได้ประโยชน์น้อย การปรับหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์มากขึ้น ส่วนในเวที WTO จะมีการร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันผลักดันให้กฎระเบียบ มีความเสมอภาค และให้ประเทศกำลังพัฒนาไม่เสียเปรียบ และจะสนับสนุนให้มีระบบส่งเสริมการส่งออกที่ยั่งยืนแทนการอุดหนุนสินค้า นอกจากนี้ อินเดียอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมการเจรจาความตกลง RCEP เพื่อลดความเสียเปรียบในการแข่งขัน รวมทั้งอยู่การเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TTIP (Trans-Atlantic Trade and Investment Partnership) เพื่อขยายฐานการค้าในยุโรปและอเมริกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เจาะตลาดเป้าหมายรายภูมิภาค
    • อเมริกาและสหภาพยุโรป ปรับปรุงมาตรฐานสินค้า การส่งออกสินค้ามูลค่าสูง (อาทิบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ อาวุธ และเครื่องมือแพทย์)
    • ประเทศเพื่อนบ้าน รวมระบบการค้าและห่วงโซ่อุปทานในเอเชียใต้เพื่อเชื่อมโยงการค้ากับอาเซียนและเอเชียกลาง
    • เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินการตามนโยบาย Act East โดยใช้ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม (CLMV) เป็นยุทธศาสตร์เชื่อมโยงการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นศูนย์กลางการลงทุน  เพื่อกระจายสินค้าไปทั้งภูมิภาค พร้อมทั้งใช้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเชื่อมต่อการค้ากับอาเซียน
    • เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เจาะตลาดจีนโดยเฉพาะสินค้าเภสัชกรรม เกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจบริการ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เอกชนใช้ประโยชน์จาก FTA กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มากขึ้น
    • ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ให้สิทธิการเข้าถึงตลาดและความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศ LDCs ตามพันธกรณีต่อ WTO
  4. ส่งเสริมการส่งออกสินค้ามูลค่าสูง เช่น สินค้าด้านวิศวกรรม ไฟฟ้า ยารักษาโรค เวชภัณฑ์อาวุธ และส่งเสริมสินค้าที่ใช้แรงงานสูง เช่น สินค้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ และสินค้าเกษตร
  5. ส่งเสริมการส่งออกธุรกิจบริการ เช่น ใช้ความตกลง CEPA (Comprehensive Economic Partnership) ในการเจาะตลาดบริการในต่างประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แคนาดา ศรีลังกา และสิงคโปร์ รวมทั้งการจัดงาน Global Exhibition on Services เพื่อส่งเสริมธุรกิจบริการ
  6. โครงการส่งเสริมการค้าต่างประเทศ เช่น การพัฒนา Brand India การใช้งบประมาณสนับสนุน การจัดกิจกรรมแสดงสินค้าและการประชุมธุรกิจ การให้ Duty Credit Scrips สำหรับสินค้าและบริการสาขาเป้าหมาย (เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและ/หรือภาษีบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ) การส่งเสริมตลาด MICE ในอินเดีย การส่งเสริมการส่งออกโครงการก่อสร้างและบริการที่มีอายุสัญญามากกว่า 1 ปี (อาทิ การพัฒนาระบบราง การผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น) และการรื้อฟื้นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  7. สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้า โดยมุ่งเน้นพัฒนาความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) เพื่อลดขั้นตอนที่ซ้าซ้อน โดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการเสริมสร้างความสะดวกในการประกอบธุรกิจคือ Department for the Promotion of Industry and Internal Trade (DPIIT), Ministry of Commerce and Industry รัฐบาลอินเดีย 
  8. ที่มาthaiconsulategeneralchennai
Back To Top
error: Content is protected !!