หวามหัล (ฮินดี: हवा महल, อังกฤษ: Hawa Mahal, แปลว่า: “พระราชวังแห่งสายลม”) หรือบางทีเรียกฮาวา มาฮาล เป็นพระราชวัง ตั้งอยู่ในเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย สร้างในปีค.ศ. 1799 โดยมหาราชา สะหวาย ประทาป สิงห์ (Maharaja Sawai Pratap Singh) ออกแบบโดยลาล จันท์ อุสตัท (Lal Chand Ustad) โดยถอดแบบมาจากรูปทรงของมงกุฏพระนารายณ์ โดยมีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ บริเวณด้านหน้าอาคารมีหน้าบันสูงห้าชั้นและมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง ซึ่งประกอบด้วยหน้าต่างขนาดเล็กตกแต่งด้วยลวดลายฉลุเป็นช่องลมจำนวน 953 บาน โดยลายฉลุนั้นมีเพื่อนางในวังสามารถมองทะลุออกมาเห็นชีวิตภายนอกบนท้องถนนได้โดยไม่มีใครสังเกตเห็นจากด้านนอก เนื่องจากนางในเหล่านั้นต้องมีความเคร่งครัดในการคลุม “ปูร์ดาห์” (หรือ ผ้าคลุมหน้า)
พระราชวังแห่งนี้สร้างโดยหินทรายสีชมพู และสีแดง ตั้งอยู่ใจกลางเมืองของชัยปุระ โดยเป็นส่วนหนึ่งของซิตี้พาเลส (City Palace) ซึ่งอยู่ในบริเวณติดกันกับเซนานา (Zenana) โดยนิยมไปเยี่ยมชมในตอนเช้าพร้อมแสงอาทิตย์ตกกระทบบริเวณหน้าต่างเพื่อชมความงามของช่องลม
คำว่า “ฮาวา” แปลว่าสายลม จึงเป็นที่มาของชื่อ พระราชวังสายลมนั่นเอง พระราชวังแห่งสายลมเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองชัยปุระและเป็นจุดขายของเมืองที่นักท่องเที่ยวจะต้องแวะมาถ่ายรูปและเป็นโลเคชั่นภาพยนตร์อินเดียหลายเรื่อง